สหรัฐฯ ทุ่มเงินมหาศาลหนุน Intel สร้างโรงงานชิปในประเทศ
ตั้งแต่ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เซ็นอนุมัติร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act เมื่อสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท Intel ถือเป็นหัวหอกสำคัญในความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ ล่าสุด ทำเนียบขาวเพิ่งประกาศข้อตกลงจัดสรรเงินทุนสูงสุด 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ยักษ์ใหญ่ด้านชิปเพื่อสนับสนุนการเพิ่มกำลังผลิตในสหรัฐฯ
CHIPS Act คือมาตรการตอบโต้ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่สะดุดมาตั้งแต่เอเชียเผชิญวิกฤตโรคระบาด และคลื่นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นไต้หวัน
ปัจจุบันเอเชีย โดยเฉพาะไต้หวัน ยังคงผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้สูงที่สุดในโลก ด้วย TSMC ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมไต้หวัน กับโรงงานขนาดมหึมาในเมืองอย่างเซินเจิ้นของจีน ส่งผลให้อุตสาหกรรมตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปถึงรถยนต์เผชิญปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลนอย่างหนักในช่วงล็อกดาวน์
ความพยายามที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ทำให้เกิดแรงผลักดันเชิงเศรษฐกิจในการดึงโรงงานผลิตกลับมายังประเทศ Intel ที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนให้คู่แข่งมาพักใหญ่ ก็พร้อมจะเป็นผู้เล่นหลักตามยุทธศาสตร์นี้ โดยได้ประกาศแผนสร้างโรงงานขนาดเงินลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์ใกล้กับเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ก่อนที่จะมีการอนุมัติร่างกฎหมาย CHIPS เสียอีก
ทาง Intel คาดว่าเงินลงทุนจะเพิ่มอีก 10 เท่าตัวในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเล็งพื้นที่ในรัฐแอริโซนา นิวเม็กซิโก และโอเรก้อน เพิ่มจากรัฐโอไฮโอ นอกจากนี้อินเทลอ้างว่าจะมีการสร้างงานกว่า 20,000 ตำแหน่งในภาคก่อสร้าง และอีก 10,000 ตำแหน่งถาวรในโรงงานผลิต ซึ่งล้วนดึงดูดใจรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขการจ้างงาน
การที่มีบริษัทอเมริกันผลิตชิปในประเทศ จะสามารถลดปัญหาคอขวดจากการต้องพึ่งพานำเข้า อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน เรียกว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” สำหรับผู้บริหารที่ต้องการเก็บแต้มในปีเลือกตั้ง
ข้อตกลงนี้เป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนมูลค่ากว่า แสนล้านดอลลาร์จากอินเทล ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนในวงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐฯ พร้อมสร้างงานคุณภาพสูงกว่า 30,000 ตำแหน่ง และช่วยจุดประกายนวัตกรรมล้ำยุคอีกมากมาย
จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุในการแถลงข่าว
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมว่าเงินทุนที่รัฐบาลเตรียมไว้จะช่วยลบช่องว่างต้นทุนระหว่างการผลิตในสหรัฐฯ กับโรงงานเอเชียอย่าง TSMC ได้จริงหรือ? อีกเรื่องน่าจับตาคือ เราอาจต้องรอดูระยะเวลาอีกหลายปีกว่าโครงการโรงงานผลิตของ Intel จะเสร็จสมบูรณ์และเดินเครื่องได้เต็มกำลัง